SAMA'S Story : ตะลอนเมืองลาว (EP.1) เดินทางสู่หนองคายด้วยรถไฟที่เต็มไปด้วยมหาชน
กราบสวัสดีพ่อแม่พี่น้องทุกท่าน ห่างหายจากบล๊อกไปเสียนาน "ยังคึดฮอดกันอยู่บ่?" หลังจากฝ่าฝันการเรียนมหาวิทยาลัย จนตอนนี้ก็จบปีสอง อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว (เย่) เลยอยากจะมาเล่าประสบการณ์ในต่างแดนครั้งแรกในชีวิตช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเสียหน่อย ถ้าพร้อมแล้วก็นั่งรถตามมาเลย!!!
เมื่อวันเกิดอายุ ๒๐ ปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปทำพาสปอร์ตเป็นของขวัญวันเกิดให้ตัวเอง ด้วยความหวังว่าจะทำให้กระตุ้นต่อมความอยากเที่ยวให้ตัวเองมากขึ้น การมีพาสปอร์ตอยู่ในมือก็คงจะทำให้ได้ไปสัมผัสโลกง่ายขึ้น เวลาผ่านไปหนึ่งปีในที่สุดทริปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตก็เกิดขึ้นหลังกลับมาจากไปเที่ยวภาคอีสานกับครอบครัวช่วงปีใหม่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะข้ามไป สปป.ลาวขึ้นมา จึงเริ่มวางแผนมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ศึกษาข้อมูลและค่าใช้จ่ายมาพอสมควร จองตั๋วรถไฟไปกลับและที่พักล่วงหน้า ในที่สุดก็ใกล้ถึงวันที่จะออกเดินทางในวันที่ ๑๒ เมษายนแล้ว สงกรานต์ที่มหาวิทยาลัยให้วันหยุดถึงหนึ่งสัปดาห์เต็ม แต่กำหนดวางแผนไว้ว่าจะเดินทางเย็นวันที่ ๑๒ เที่ยววันที่ ๑๓ ถึง ๑๕ และเดินทางกลับเย็นวันที่ ๑๕ โดยรถไฟ ก่อนจะกลับถึงบ้านในวันที่ ๑๖ สิริรวมเวลา ๕ วัน ๔ คืน นอนโรงแรม ๒ คืน และนอนบนรถไฟ ๒ คืน โดยเอนทรี่นี้จะเล่าเรื่องราวในวันที่ ๑๒ และ ๑๓ เมษายน
แม้จะไปไม่ใกล้ไม่ไกลไปประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว แต่ก็ตื่นเต้นมากอยู่ดีเพราะจะเป็นการออกนอกประเทศแบบจริงจัง (ไม่นับเดินข้ามชายแดน ถ่ายกับป้ายสุดเขตประเทศไทยแล้ววิ่งกลับเข้ามานะ ๕๕๕) ครั้งแรก แถมยังทำเท่ฉายเดี่ยวไปคนเดียวอีกต่างหาก คราวนี้จะไปทำเซ่อซ่า หลงทิศทางในต่างบ้านต่างเมืองหรือไม่ ก็เอาใจช่วยผมไปตลอดทริปด้วยนะครับ //\\
DAY-0 วันพฤหัสบดี ที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๖๑
๑๔:๐๐ ให้พ่อออกมาส่งที่คิวรถตู้ นั่งรถตู้ไปลงหมอชิต
๑๕:๑๐ ถึงหมอชิต ต่อรถตู้ไปมหาวิทยาลัย
๑๖:๐๐ ถึงมหาวิทยาลัย จัดของใส่กระเป๋า สำรวจสัมภาระเตรียมออกเดินทาง
๑๖:๓๐ นั่งรถเมล์จากมหาวิทยาลัยไปฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
๑๗:๐๐ กินอาหารเย็น+เดินเล่นที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
๑๘:๒๐ เดินจากฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ไปสถานีรถไฟรังสิต
เนื่องจากมหาวิทยาลัยหยุดตั้งแต่วันที่ ๑๐ เลยกลับมาเคลียร์งานต่าง ๆ ที่บ้านก่อน จะได้ไปเที่ยวอย่างสบายใจ จึงต้องเดินทางย้อนไปมา จากตั๋วรถไฟที่จองล่วงหน้าไว้ตั้งแต่วันแรกที่ให้เปิดจอง (จองล่วงหน้าก่อนวันเดินทางได้ ๖๐ วัน) ตอนแรกว่าจะไปกับรถนอนใหม่ รถด่วนพิเศษขบวนที่ ๒๕ (อีสานมรรคา) ทั้ง ๆ ที่จองวันแรกที่เปิดให้จองแต่ก็ แห้ว ครับ เลยต้องยอมไปกับรถด่วนขบวนที่ ๗๗ ชั้น ๓ นั่งตลอดทาง แต่ก็แลกกับราคาที่ประหยัดกว่าถึง ๗๐๐ บาท ด้วยราคาเพียง ๒๔๘ บาทเท่านั้น โดยรถไฟจะออกจากสถานีรถไฟรังสิตเวลา ๑๙:๓๔ นาที และไปถึงสถานีหนองคายเวลา ๐๔:๑๕ นาที
หลังจากอิ่มหนำสำราญกับ เคเอฟซี ที่ฟิวเจอร์พาร์ค เหลือบดูมองเวลาในโทรศัพท์ ๑๘:๒๐ แล้วหรือนี่ เลยรีบย่ำเท้าเดินจากฟิวเจอร์พาร์ค ไปที่สถานีรถไฟรังสิตในทันที บรรยากาศรังสิตยามเย็นวันที่ ๑๒ เมษายน ยังคงคับคั่งไปด้วยรถราและผู้คน (นึกว่ากลับภูมิลำเนากันไปหมดแล้วเสียอีก) ร้านอาหารริมทางยังคงตั้งขายเหมือนวันปกติ ลูกค้าก็ยังคงเนืองแน่นดังเช่นทุก ๆ วัน ที่ต่างจากวันปกติคือเมื่อเดินไปถึงสถานีรถไฟรังสิต ที่ปัจจุบันไม่มีอาคารสถานีแล้วเนื่องจากการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ในอีก ๒ ปีข้างหน้าชาวรังสิตจะได้มีรถไฟฟ้าใช้แล้ว (เย่) มีผู้คนหนาตากว่าทุกวัน เก้าอี้นั่งรอรถไฟทุกที่นั่งถูกจับจองไปด้วยผู้คนที่บ้างก็มากันทั้งสามี ภรรยา ลูกเด็กเล็กแดง บ้างก็มากันเป็นคู่รัก คู่พี่น้อง คงจะมีแต่ผมล่ะมั้งที่มาคนเดียว ทุกคนต่างหอบสัมภาระกันมามากมาย เท่าที่ดูด้วยสายตาคงเป็นของที่นำไปฝากญาติพี่น้องที่ภูมิลำเนา เสียงเซ็งแซ่เจี๊ยวจ๊าวของเด็กที่ยังไม่รู้ประสา เสียงโทรศัพท์หาคนที่บ้านด้วยภาษาถิ่น แถวที่เรียงยาวเพื่อซื้อตั๋วโดยสาร แม้จะมีป้ายติดว่าตั๋ววันที่ ๑๒ เมษายน เต็มหมดแล้ว! แต่ยังมีตั๋วสำหรับยืนอยู่ เพื่อไปให้ถึงภูมิลำเนาในโอกาสครั้งสำคัญแม้จะเหนื่อยหน่อย ก็ต้องจำยอม
ตั๋วขาไป |
รังสิตยามย่ำสนธยา |
สถานีรถไฟรังสิตเที่ยวล่อง |
สถานีรถไฟรังสิตมองไปทางเที่ยวขึ้น |
รถด่วนพิเศษอุตราวิถีชั้น ๑ |
มาแล้ว รถด่วนขบวนที่ ๗๗
ภายในรถไฟชั้น ๓ ช่วงเทศกาล แน่นจนไม่มีอากาศจะหายใจ |
หลังจากปรับตัวให้คุ้นชินกับที่นั่งที่อัดแน่นไปด้วยสัมภาระ ที่ทำให้ช่องระหว่างที่นั่งแคบจนไม่สามารถเหยียดขาได้ ผู้คนที่ยืนออกันแน่นจนไม่อยากนึกสภาพตอนที่ลุกออกไปเข้าห้องน้ำ นี่เราต้องอยู่ในสภาพนี้เป็น ๑๐ ชั่วโมงเลยหรือนี่ T_T โชคดีที่จองที่นั่งริมหน้าต่างจนทำให้พอหายใจหายคอและดื่มด่ำกับทิวทัศน์ยามราตรีพอจะลืมความเมื่อยล้าไปได้บ้าง เมื่อคุ้นชินแล้วจึงโทรศัพท์บอกที่บ้านว่าออกเดินทางแล้ว และเก็บภาพข้างทางบางส่วนเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้สึกในวันนั้นไว้ รวมถึงบันทึกเวลาที่ถึงสถานีที่รถไฟจอดไว้ใน memo
๒๑:๐๒ ถึงสถานีรถไฟสระบุรี
๒๑:๑๗ ถึงสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
๒๒:๒๓ ถึงสถานีรถไฟปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
๒๓:๒๙ ถึงสถานีรถไฟนครราชสีมา
๐๐:๐๔ ถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา
๐๑:๕๓ ถึงสถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
๐๒:๓๕ ถึงสถานีรถไฟเมืองพล จังหวัดขอนแก่น
๐๓:๑๐ ถึงสถานีรถไฟบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
๐๓:๔๗ ถึงสถานีรถไฟขอนแก่น
๐๕:๐๒ ถึงสถานีรถไฟกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
๐๕:๓๕ ถึงสถานีรถไฟอุดรธานี
เคยได้ยินมาว่ารถไฟดีเซลรางวิ่งได้เร็วถึง ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงคิดว่าน่าจะไปถึงตามเวลาที่ระบุในตั๋วคือ ตี ๔ ๑๕ นาที เช้าอะไรปานนั้น แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะตั้งแต่สถานีรถไฟนครราชสีมา ไปจนถึงสถานีรถไฟขอนแก่น มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตลอดทาง ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความล่าช้า แต่หากโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์จะย่นเวลาได้มาก เพราะรถไฟจะวิ่งได้โดยไม่ต้องรอสับหลีกกัน แถมตัวสถานีมีการยกระดับด้วยเพื่อเลี่ยงจุดตัดกับถนน เท่าที่ดูก็พบว่าโครงการคืบหน้าไปมากแล้ว (ขอชื่นชม) กว่าจะถึงอุดรฯ พระอาทิตย์ก็ขึ้นเสียแล้ว
สถานีรถไฟอยุธยา |
สถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย |
รถเร็วเที่ยวล่อง (อุบลราชธานี-กรุงเทพ) คนโล่งเชียว |
0 comments:
Post a Comment