Tuesday, 3 May 2016

SAMA'S Story:พาล่องใต้! [EP.5 เลาะเลี้ยวผ่านหุบเขา กว่าจะถึง "เบตง" ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน!]


      สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่านห่างหายกันมาพอสมควร หวังว่าจะยังไม่ทิ้งผมไปไหนกันนะครับ ผมยังพาเที่ยวไม่ครบเลย (5555)



      เอนทรี่นี้ผมจะพาทุกท่านล่องใต้ซะยิ่งกว่าใต้เสียอีกครับ มาล่องใต้ทั้งทีผมต้องพาทุกท่านไปล่องให้ถึงใต้ที่สุดครับจะได้ไม่เสียเที่ยว ^^ ซึ่งจุดที่ผมจะพาทุกท่านไปนั่นคือ "ละติจูดที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือ"  นั่นเอง!!! เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วหลายท่านอาจจะฉงนสงสัยกันบ้างว่าไอ้ละติจูดที่ผมว่ามันมีอะไรพิเศษพิสดารอย่างงั้นหรือ?  จุดที่ผมว่ามันไม่ได้พิเศษพิสดารอะไรหรอกครับเพียงแต่มันคือ"จุดที่อยู่ใต้ที่สุดของประเทศไทย!" ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา นั่นเองครับ หลายท่านอาจเคยเข้าใจผิดมาจากหลายๆสื่อว่าจุดใต้สุดของประเทศไทยอยู่ที่ จังหวัดนราธิวาส ก็ขอให้ทำความเข้าใจเสียใหม่นะครับ :) เอาล่ะครับสาธยายมามากพอดูแล้ว ทุกท่านคงอยากไปเบตงเต็มแก่แล้ว ถ้าพร้อมแล้วก็รัดเข็มขัดนิรภัยให้แน่น พกถุงอ๊วก มาตะลุยโค้งสู่เบตง พร้อมกันเลยครับ เย่!!!!!

      "อำเภอเบตง" เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดยะลา นับเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันการาคีรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 60,000 คน มีระยะทางห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,220 กิโลเมตร ด้วยภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี ดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”

แผนที่จังหวัดยะลา แสดงอำเภอเบตง(ระบายสีแดง) เครดิต: วิกิพีเดีย


วันที่ 14 เมษายน 2559: ถึงแม้ว่าจะเป็นวันที่ต้องออกเดินทางไปอำเภอเบตง แต่ผมก็ยังมิวายตื่นนอนตอน 7 นาฬิกา ^^ พวกผม คุณยาย คุณแม่ คุณน้า น้องชาย และผม (ส่วนคุณทวดอยู่บ้านในความดูแลของหลานสาวครับ) หลังจากตื่นนอนแล้วจึงอาบน้ำ โบกแป้ง แต่งตัว แล้วลงมาทานอาหารเช้าด้วยความเร็วปกติหาได้เร่งรีบไม่ แม้ว่าอำเภอเบตงจะอยู่ห่างจากอำเภอเมืองยะลา 140 กิโลเมตร แต่ด้วยเส้นทางที่เลาะเลียบ คดเคี้ยวตามไหล่เขา ผ่านหุบเหวลึก ของเทือกเขาสันกาลาคีรี (พรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างไทย-มาเลเซีย ทอดยาวผ่านจังหวัดสตูล เลาะเข้ามาเลเซีย พาดผ่านจังหวัดสงขลา บางส่วนของจังหวัดปัตตานี วกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดยะลา ทอดยาวลงมาเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดยะลา และนราธิวาส แล้วจึงไปสิ้นสุดที่ประเทศมาเลเซีย) จึงทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 3 ชั่วโมง! หลังจากทานอาหารเช้าเสร็จพวกเราจึงเริ่มออกเดินทาง เวลาประมาณ 9 นาฬิกา โดยขับตรงไปตามถนนหมายเลข 410 หรือถนนสุขยางค์ ตลอดการเดินทาง เนื่องจากเบตงเป็นอำเภอในหุบเขา การเข้า-ออกทางถนนจึงเข้า-ออกได้เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น ราวกับเป็นเมืองปิดจริงๆ
     
บ้าย บาย บ้าน บ้าย บาย คุณทวด ^^

      การเดินทางครั้งนี้ใช้รถยนต์ส่วนตัวของคุณแม่เดินทางครับ อีกทั้งคุณแม่ก็ยังเป็นคนขับอีกด้วย นี่เป็นครั้งแรกของคุณแม่เลยครับที่ขับรถไปอำเภอเบตงด้วยตัวเอง (ปกติจะใช้บริการรถแท็กซี่) ขับรถมาได้สักพักหลังจากเติมน้ำมันเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วก็พบว่ายางรถยนต์รั่วครับ!!!! ดีนะครับที่ยังไม่ออกจากเขตเทศบาลนครยะลา คุณแม่จึงสาละวนขับรถไปที่อู่แต่ก็พบว่าอู่หลายแห่งปิดทำการเนื่องจากวันหยุดยาวสงกรานต์ครับ! เดชะบุญมีอู่แห่งหนึ่งเปิดอยู่ ยางรถยนต์จึงถูกปะด้วยเครื่องปะที่ทันสมัยในเวลาเพียงเสี้ยวของห้านาที^^ เมื่อยางรถยนต์พร้อมแล้ว การเดินทางจึงเปิดฉากขึ้นครับ พวกเราได้ออกเดินทางจริงๆก็ประมาณ 9 นาฬิกา 45 นาทีแล้วครับ ออกจากเขตเมืองจากวิวตึกรามบ้านช่อง เริ่มเปลี่ยนเป็นวิวสวนยางพารา จากวิวสวนยางพารา เริ่มเปลี่ยนเป็นวิวสวนยางพาราแล้วมีฉากหลังเป็นภูเขาหินอ่อนเตี้ยๆ จากเขตอำเภอเมืองยะลา มาเข้าเขตอำเภอกรงปินัง จากเขตอำเภอกรงปินัง มาเข้าเขตอำเภอบันนังสตา ผ่านด่านตรวจของทหารด่านแล้วด่านเล่า ผ่านเขตชุมชนเล็กๆที่มีตึกไม้สวยงาม ผ่านมัสยิดมาเป็นสิบๆแห่ง จนในที่สุดเวลาประมาณ 10 นาฬิกา 30 นาที เพิ่งเลยป้ายทางเข้าเขื่อนบางลางมาเพียงชั่วครู่ จู่ๆ คุณแม่ก็จอดรถข้างทางอย่างกะทันหัน! เกิดอะไรขึ้นกันนะ? อย่าเพิ่งคิดเตลิดไปไกลนะครับ^^ พวกผมไม่ได้ถูกโจรปล้นกลางทาง หรือไม่ได้ถูกดักวางระเบิดแต่อย่างใด รถหม้อน้ำแห้งครับ  เนื่องจากผ่านการใช้งานมาอย่างสมบุกสมบันขับมาตั้งไกลจากแม่กลอง ทำให้ความร้อนของรถขึ้นสูงเพราะพวกผมลืมเติมน้ำในหม้อน้ำไปเสียสนิท แหะๆ โชคดีที่มีอาบังขายต้นทุเรียนใจดีแบ่งน้ำขวดมาให้เติม ประกอบกับในรถพอมีน้ำขวดอยู่บ้าง ทำให้หลังจากที่คุณแม่เติมน้ำในหม้อน้ำอย่างทุลักทุเลมาพอสมควร ความร้อนในรถก็กลับมาเป็นปกติ แล้วพวกเราก็เดินทางกันต่อได้ครับ เย่!!! หู้วว เกือบแย่แล้ว^^

เริ่มออกเดินทางครับ ผ่านถนนรวมมิตร ยะลาเป็นเมืองสามวัฒนธรรมครับดังที่เคยเกริ่นไว้ในตอนก่อนๆ^^

อู่ที่พวกผมมาปะยางกันอยู่ตรงข้ามกับศูนย์เยาวชนฯครับ ยะลาเป็นเมืองสามวัฒนธรรมอย่างแท้จริงครับ^^

บ้ายบาย ถนนสิโรรส แล้วพบกันใหม่เมืองยะลา ♥

สถาพถนนหมายเลข 410 ในช่วงอำเภอเมือง-อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลาครับ

เจอมัสยิดบ่อยกว่าปั๊มน้ำมันอีกครับ ^^

บริเวณที่จอดรถเติมน้ำให้หม้อน้ำครับ

      เมื่อยางรถยนต์พร้อม หม้อน้ำพร้อม รถก็น่าจะพร้อมแล้ว^^ การออกเดินทางมุ่งหน้าสู่อำเภอเบตงจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง  จากวิวสวนยางพาราสลับภูเขาหินอ่อนเตี้ยๆ ก็เริ่มกลายเป็นวิวป่าดงดิบเขียวชะอุ่มสลับกับเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ถนนจากตรงไปตรงมา ก็เริ่มคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา มองไปข้างล่างก็จะเห็นหุบเหวลึกชวนน่าพิศวง อีกทั้งมีธารน้ำใสสายใหญ่ไหลมาจากเทือกเขา ออกจากเขตอำเภอบันนังสตา เข้าสู่เขตอำเภอธารโต อำเภอที่เดิมทีอยู่ในการปกครองของอำเภอบันนังสตา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้งทัณฑสถานเพื่อกักขังนักโทษทางการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่จัดส่งมาจากทั่วประเทศ และเรียกทัณฑสถานแห่งนี้ว่า "นรกธารโต" เพราะพื้นที่โดยรอบเป็นป่าทึบที่ชุกชุมไปด้วยไข้ป่าหลบหนีได้ยาก แต่เดิมชาวบ้านแต่เก่าก่อนเรียกบริเวณนี้ว่า ไอร์กือดง หรือ ไอร์เยอร์กระดง เป็นภาษามลายู คำว่า ไอร์ หรือ ไอร์เยอร์ แปลว่า "น้ำ" หรือ "ลำธารใหญ่" ส่วน กือดง หรือ กระดง มีสองความหมายคือ "บริเวณที่ลำน้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่" หรือ "พืชมีพิษ" ซึ่งมีมากในแหล่งน้ำดังกล่าว ส่วนคำว่า ธารโต มาจากชื่อ เรือนจำกลางภาคธารโต เป็นชื่อที่ทางกรมราชทัณฑ์ตั้งขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศ สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพราะมีลำธารขนาดใหญ่ไหลผ่าน
       นอกจากนี้อำเภอธารโตยังเป็นถิ่นที่อยู่ของเงาะป่าซาไก ซึ่งได้รับพระราชทานนามสกุล "ศรีธารโต" จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พวกเขายังดำรงชีวิตอย่างโบราณอยู่ แม้ว่าทางกรมประชาสงเคราะห์จะสร้างที่พักและที่ทำกินให้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ใส่ใจ เพราะพวกเขาพอใจที่จะใช้ชีวิตอย่างเดิมมากกว่า แต่ปัจจุบันพวกเขานิยมที่จะอาศัยในประเทศมาเลเซียตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน และ 3 ปีที่ผ่านมาชาวซาไกที่เหลือก็เริ่มเข้าไปในมาเลเซียอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลด้านความไม่สงบ และข้อเสนอของทางการมาเลเซียที่ให้ที่ทำกินที่ดีกว่าแก่พวกเขา








ถนนหมายเลข 410 ในช่วงเริ่มเข้าเขตอำเภอธารโตครับ

ภูเขาหินอ่อนรูปทรงแปลกตา ^^

เขตชุมชนในอำเภอธารโตครับ บ้านเรือนเป็นไม้สวยงามดีครับ


ทางเริ่มคดเคี้ยวขึ้นแล้วครับ ทิวทัศน์เป็นเทือกเขาสันกาลาคีรี




      พวกผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะจอดแวะถ่ายรูปกันที่สะพานข้ามป่าบาลา-ฮาลาครับ ซึ่งเป็นสะพานที่เพิ่งสร้างเสร็จมาเมื่อไม่นานมานี้ สะพานแห่งนี้ช่วยลดความคดเคี้ยวของถนนได้มากเลยครับ สมัยตอนผมเป็นเด็กทางไปเบตงคดเคี้ยวกว่านี้หลายขุมมากใครเพิ่งได้ไปเป็นครั้งแรกต้องมีอ้วกแตกอ้วกแตนกันทุกราย ดังนั้นเมื่อเอ่ยชื่อของอำเภอเบตงใครต่อใครต่างก็เล่าขานวีรกรรมอ้วกแตกของตนกับแทบทั้งนั้น แต่ปัจจุบันสภาพถนนที่ดีขึ้น ประกอบกับมีการตัดเส้นทางใหม่ที่ลดความคดเคี้ยวลงมาก ทำให้การเดินทางไปอำเภอเบตงสบายกว่าสมัยก่อนแบบเทียบกันไม่ได้เลยครับ (55555)

      ป่าบาลา-ฮาลา หรือ ป่าฮาลา-บาลา เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย ได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2539 อันเป็นแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ประมาณ 270,725 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทิวเขาสันกาลาคีรี  ป่าฮาลาและป่าบาลาเป็นผืนป่าดงดิบที่ไม่ต่อเนื่องกัน แต่ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเดียวกัน ป่าฮาลา อยู่ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ส่วนป่าบาลามีพื้นที่ครอบคลุม อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ป่าทั้งสองผืนนี้ถือได้ว่าเป็นป่าดงดิบที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นป่าแอมะซอนแห่งอุษาเคเนย์

      สัตว์ที่อาศัยอยู่ที่นี่หลายชนิดเป็นสัตว์ที่หายากในไทย เช่น ชะนีดำใหญ่ หรือ เซียมัง มีสีดำตลอดตัว และมีขนาดใหญ่กว่าชะนีธรรมดาเกือบเท่าตัว ชะนีมือดำ (ซึ่งปกติจะพบเฉพาะในป่าบนเกาะสุมาตรา บอร์เนียว และป่าบริเวณทางเหนือของมาเลเซียถึงทางใต้ของไทยเท่านั้น) เสือโคร่ง เจ้าป่าแห่งบาลา-ฮาลา ก็พบได้ที่นี่เช่นกัน  นอกจากนั้นยังมี กบทูด ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความยาวจากปลายปากถึงก้น ประมาณ 1 ฟุต น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง และจากการสำรวจพบสัตว์ป่าสงวน 4 ชนิด คือ เลียงผา สมเสร็จ แมวลายหินอ่อน และ กระซู่ นกเงือกซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า และเป็นนกหายากชนิดหนึ่ง แต่ในป่านี้พบถึง 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกชนหิน (เป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีโหนกแข็งทึบ ชาวบ้านในอินโดนีเซียจึงล่านกชนหินเพื่อเอาโหนกไปแกะสลักอย่างงาช้าง) นกแก๊ก นกกก หรือ นกกาฮัง (เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย) นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ และ นกเงือกกรามช้าง


      ฤดูกาลที่เหมาะแก่การไปศึกษาธรรมชาติที่นี่คือตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนกันยายน ซึ่งจะมีฝนตกลงมาไม่มากเกินไปครับ





การจะเข้าไปเที่ยวป่าฮาลา ต้องนั่งเรือเข้าไปกว่าสองชั่วโมงครับ เครดิต:กลุ่มเดอะแก๊งโฟโต้ยะลา

ฝูงกระทิงครับ เครดิต:กลุ่มเดอะแก๊งโฟโต้ยะลา

นกกก หรือนกกาฮัง นกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยครับ เครดิต:กลุ่มเดอะแก๊งโฟโต้ยะลา

      เนื่องจากว่าพวกผมไม่มีโอกาสได้เข้าไปเที่ยวป่าฮาลา ผมจึงขอหยิบยืมรูปภาพจากกระทู้ในเว็บหนึ่งมาให้ท่านผู้อ่านได้ชมภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดงดิบผืนนี้กันครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอยากศึกษาหรือชมภาพบรรยากาศป่าแห่งนี้เพิ่มเติมสามารถเข้าไปชมกระทู้นี้ได้เลยครับ
"บาลาฮาลา"ผืนป่าดงดิบที่กล่าวได้ว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย By เดอะแก๊งโฟโต้ยะลา ^^
      เวลาประมาณ 11 นาฬิกา 15 นาที พวกผมก็มาถึง สะพานข้ามป่าบาลา-ฮาลาครับ คุณแม่ไม่รอช้ารีบจอดรถข้างๆสะพานแล้วรีบลงมาจากรถทันทีด้วยความตื่นเต้น ดูๆไปแล้วคุณยายกับคุณน้าก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน คงมีแต่น้องชายของผมกระมังที่ในหัวของเขาเต็มไปด้วยคำถามมากมาย และครั้งนี้เขาก็ไม่พลาดครับ "ก็แค่สะพานจะถ่ายกันทำไม?" มีผู้คนบางส่วนมายืนถ่ายรูปกันบนสะพานแห่งนี้ด้วยครับ โดยมีป้อมทหารคุ้มกันอยู่ที่หัวสะพาน^^ ถ้าถามว่าจะมาถ่ายรูปกันทำไมมันก็แค่สะพาน?  ตลอดเส้นทางของถนนหมายเลข 410 ผ่านสะพานข้ามห้วย หนอง คลอง บึง หรือหุบเหว มาหลายต่อหลายสะพาน แต่ทำไมกันนะผู้คนถึงมาหยุดถ่ายรูปกันอยู่แค่สะพานนี้ คำตอบของคำถามอยู่ในรูปของผมทั้งหมดแล้วครับ^^

ก่อนถึงสะพานครับ ^^


 ทิวทัศน์จากกระจกรถ ผืนป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ กับเทือกเขาสันกาลาคีรีที่เป็นฉากหลัง

 เมื่อลงจากรถผมไม่รอช้ารีบหามุมถ่ายภาพในบัดดล (5555)

มากันเป็นครอบครัวเลยครับ เสื้อสีสดใสเชียว ด้านหลังเป็นเต็นท์ของพี่ทหาร

 เนื่องจากเป็นฤดูร้อนน้ำเลยน้อยไปหน่อย ^^

 โย่โฮ่โฮ่ สวัสดีเพื่อนสัตว์ป่า ผมเป็นมนุษย์ ^^

 แสงแดดตกกระทบแล้วน้ำใสเป็นประกายเลยครับ (แอบเหมือนชายหาด)

ส่งท้ายกันไปด้วยภาพนี้ แล้วเจอกันใหม่ครับสะพานข้ามป่าบาลา-ฮาลา ♥


      "That's so magnificent!" น่าจะเป็นประโยคที่เหมาะสมที่จะเป็นแคปชั่นสำหรับสะพานแห่งนี้ครับ หลังจากตาหยีเป็นอาหมวยอาตี๋กันบนสะพานมาหลายช็อตจนเป็นที่พอใจแล้ว พวกผมจึงรีบฝ่าแดดวิ่งขึ้นรถครับแม้อากาศจะไม่ร้อนแต่แดดก็แรงครับ (ก็อยู่บนเขานี่นา 55555) ขับรถมาต่อไปสักพัก คุณแม่ก็บอกว่าจะแวะจอดที่จุดพักรถครับ โอ้สวรรค์โปรด ผมคิดว่าหลังจากนั่งรถมานานกว่าสองชั่วโมงแล้วทุกคนบนรถคงปวดหนักปวดเบากันไม่มากก็น้อย ตลอดเส้นทางไปอำเภอเบตงบนถนนหมายเลข 410 แทบจะไม่มีปั๊มน้ำมันเลยครับ ถึงมีก็จะมีแบบที่เป็นปั๊มน้ำมันสำหรับเติมน้ำมันเพียงอย่างเดียว ไม่มีปั๊มปตท.ใหญ่ๆที่มีร้านกาแฟแอมะซอน และร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่นพ่วงสอยห้อยมาด้วยเลยแม้แต่แห่งเดียว อีกทั้งในช่วงต้นของถนนสายนี้จัดเป็นเขตพื้นที่สีแดงอีกด้วยครับ ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆคงไม่มีใครอยากจะจอดแวะ แต่ถ้าเลยเขตอำเภอบันนังสตา เข้าเขตอำเภอธารโตมาแล้วก็พออุ่นใจขึ้นมาได้แล้วครับ^^


      ออกจากสะพานข้ามป่าบาลา-ฮาลา จะเจอทางแยกไปอำเภอเบตงอีกสายครับ เรียกว่าสายบน สายนี้จะเป็นเส้นทางที่ลดความคดเคี้ยวลงครับ แต่จะต้องแลกมากับทางขึ้นเขาที่ถ้ารถเกียร์ไม่ดีจะมีสิทธิ์ไหลลงมาได้ง่ายๆ อีกทั้งจุดพักรถยังอยู่ในเส้นทางสายล่างอีกด้วยครับ แม้เส้นทางสายล่างจะคดเคี้ยวมากกว่าแต่ก็สบายใจได้ครับเพราะไม่ต้องมานั่งเกร็งขึ้นเขาสูงๆ และสภาพถนนที่ดีขึ้นยังส่งผลทำให้ขับรถได้อย่างสบายๆครับ เส้นทางที่คดเคี้ยวมากขึ้น วิวทิวทัศน์ก็สวยงามขึ้นเช่นกัน มองลงไปจากไหล่ทางข้างล่างจะเห็นหุบเหวและลำธารขนาดใหญ่ มีทิวเขาสันกาลาคีรีสูงสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง ไม่ว่าจะมองไปทางซ้ายหรือทางขวาก็จะรู้สึกมีชีวิตชีวาครับ เพราะวิวของป่าดงดิบที่เขียวขจี และเสียงจั๊กจั่นที่ร้องเรไรทำให้ฤดูร้อน สมกับเป็นฤดูร้อนครับ นั่งดื่มด่ำกับทิวทัศน์ไปครู่หนึ่งก็ถึงแล้วครับจุดพักรถ เป็นจุดพักรถเล็กๆ มีห้องน้ำ และร้านขายของชำครับ มีรถมาจอดแวะพักไม่มากนักแต่ก็มาเรื่อยๆไม่ขาดสาย เมื่อคุณแม่จอดรถปุ๊บ ผมก็รีบกรูออกจากรถตรงรี่ไปทางห้องน้ำทันที หลังจากที่ทำธุระเสร็จเรียบร้อยผมจึงเดินขึ้นเนินไปถ่ายภาพบริเวณจุดพักรถครับ หากใครต้องการไปเที่ยวป่าฮาลา ก็มาเช่าเรือได้ที่บริเวณจุดพักรถนี่ล่ะครับ แต่ผมไม่ทราบนะครับว่าราคาประมาณเท่าไร ^^ ผมชมวิวแล้ว ก็รู้สึกเข้าใกล้ธรรมชาติมากยิ่งขึ้นครับ ผมลองสูดหายใจเต็มปอด มันช่างสดชื่นอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ เมื่อถ่ายรูปมาได้ประมาณนึงแล้ว จึงเข้าไปซื้อสินค้าที่ร้านขายของชำมาดับกระหายครับ ร้านขายของชำที่นี่ก็เหมือนร้านขายของชำทั่วไปที่มีตู้แช่ มีขนม ไอศกรีม และน้ำปั่นขายครับ ด้านหน้ามีผลไม้ขายครับพวก ส้มโชกุน ฝรั่ง มะม่วง แคนตาลูป ต้องบอกเลยว่าแคนตาลูปนั้นหวานฉ่ำเย็นชื่นใจจริงครับ ต้องลองถุงละ 20 บาทครับ ♥





บริเวณจุดพักรถครับ

ท่าเรือตาพะเยาครับ ใครสนใจล่องเรือชมป่าฮาลา ต้องมาขึ้นเรือที่นี่ครับ!

บริเวณจุดพักรถครับ มองเห็นร้านขายของชำด้วย 

      เมื่อทำธุระปล่อยหนักปล่อยเบา ซื้อน้ำซื้อผลไม้มากินดับกระหายเรียบร้อยแล้ว พวกผมจึงเดินทางต่อครับ เบตงเหลืออีกแค่ 60 กิโลเมตรเท่านั้น! ผ่านโค้ง ผ่านเขามาได้สักพักก็เข้าเขต ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลาแล้วครับ ผ่านจุดท่องเที่ยวที่เพิ่งมาเป็นกระแสในช่วงนี้คือ จุดชมทะเลหมอกเขาไมโครเวฟอัยเยอร์เวงด้วยครับ ทะเลหมอกที่นี่สามารถชมได้ตลอดทั้งปีครับ แต่ต้องขับรถขึ้นเขาไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ1,000 เมตรครับ  ทะเลหมอกแห่งนี้ได้ชื่อว่า สวยที่สุดในภาคใต้ ครับ ผมไม่มีโอกาสได้เข้าไปเยือนครับ จึงได้หยิบยืมภาพจากท่านอื่นมาให้ท่านผู้อ่านได้ชมความงดงามของทะเลหมอกในภาคใต้กันบ้างครับ

ถ้ามีโอกาสผมจะไม่พลาดไปชมแน่นอนครับ เครดิต: Travel.Thaiza.com

      สองข้างทางเต็มไปด้วยสวนยางพารา สวนผลไม้ต่างๆที่ปลูกลดหลั่นกันตามระดับความสูงของภูเขาดูแล้วสวยงามครับ แต่เวลาไปตัดยาง หรือเก็บผลผลิตคงลำบากกว่าชาวสวนที่ปลูกตามพื้นราบอย่างแน่นอน เนื่องด้วยอำเภอเบตงไม่มีที่ราบลุ่มครับ มีเพียงที่ราบเชิงเขาเท่านั้น ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 300-400 เมตรครับ จึงต้องปลูกกันแบบนี้ เวลาเข้าใกล้ 13 นาฬิกาเข้าไปทุกทีแต่พวกผมก็ยังไม่ถึงเมืองเบตงสักที

ทิวทัศน์สวนยางพารา และสวนผลไม้ครับ

      ในที่สุดเวลา 13 นาฬิกา รถของคุณแม่ก็เข้าด่านตรวจของพี่ทหารครับ เป็นด่านตรวจขนาดใหญ่ครอบคลุมสองฝั่งถนน เป็นด่านตรวจที่เปรียบเสมือนด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตงครับ ตรวจละเอียดมากจริงๆ ขอบคุณพี่ทหารครับที่อนุมัติให้รถของคุณแม่ผ่านเข้าไปโดยดี ออกจากด่านจะมีป้าย OK Betong อยู่ครับเป็นเหมือนป้ายยินดีต้อนรับสู่ตัวเมืองเบตง เมื่อลงจากเนินเขาจะมองเห็นเมืองเบตงอยู่ในหุบเขาครับ ลงมาจากเนินเขาจะผ่านซุ้มคล้ายประตูเมืองเป็นสถาปัตยกรรมแบบ 3 เชื้อชาติครับ ไทย-พุทธ ไทย-มุสลิม และไทยเชื้อสายจีนครับ ผ่านซุ้มนั้นมาก็จะเข้าเขตเทศบาลเมืองเบตงครับ เบตงเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในจังหวัดยะลา รองจาก เทศบาลนครยะลา มีประชากรประมาณ 25,000 คน เมืองเบตงตั้งอยู่ในหุบเขา มีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะที่โอบล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่ โดยมีลำคลองสำคัญไหลผ่านใจกลางเมืองเบตง คือ คลองเบตง ไหลมาจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกแล้วไปบรรจบกับแม่น้ำปัตตานี ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาจึงเทำให้พื้นที่รอบ ๆ เมืองเบตงเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดยะลาและภาคใต้ คือแม่น้ำปัตตานีอันเป็นที่ตั้งของเขื่อนบางลาง ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และยังแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองยะลาอีกด้วยครับ สภาพทางธรรมชาติทำให้เมืองเบตงมีหมอกตลอดปี จึงได้รับสมญานามว่า "เมืองในหมอกและดอกไม้งาม" ประชาชนในเมืองเบตงประกอบด้วยคนไทยหลากหลายเชื้อชาติ เป็นคนไทยเชื้อสายมลายู, คนไทยเชื้อสายจีน (เช่น กวางไส ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว จีนแคะ ) และคนไทยพุทธ โดยได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างลงตัว
      เดิมพื้นที่อำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปัตตานี จึงทำให้ประชาชนดั้งเดิมของอำเภอเบตงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายามาก่อน ต่อมาในปีพุทธศักราช 2443 ได้มีชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางจากประเทศจีนโดยนำเรือมาขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซียแล้วเดินทางเท้า หรือนั่งเกวียนเข้ามายังพื้นที่อำเภอเบตง ชาวจีนส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาในอำเภอเบตงก็ได้รับจ้างถางป่าหักร้างถางพงผืนป่า หลังจากนั้นก็มีชาวจีนอพยพเข้ามาเรื่อย ๆ อาจกล่าวได้ว่าชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางสี ซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีนซึ่งมีดินแดนบางส่วนติดกับประเทศเวียดนามเป็นกลุ่มชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่สุดในอำเภอเบตงที่มีส่วนบุกเบิกอำเภอเบตงมากที่สุด ซึ่งเรียกกลุ่มตนเองว่า กวางไส (廣西) ซึ่งในปัจจุบันชาวจีนในอำเภอเบตงมีหลากหลายกลุ่ม เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ฮากกา และแต้จิ๋ว
      จึงส่งผลให้ภาษาพื้นฐานในอำเภอเบตงมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับแวดวงทางสังคม เชื้อชาติ และศาสนา เช่น ภาษาไทย, ภาษามลายูปัตตานี, ภาษาจีนกวางตุ้ง, ภาษาจีนกวางไส, ภาษาจีนแคะ, ภาษาจีนฮกเกี้ยน, และภาษาจีนแต้จิ๋ว
      ขับรถมาได้สักพักจะพบกับศาลาประชาคมเมืองเบตงครับ ซึ่งด้านหน้ามีตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ด้วย ไม่ทราบว่าปัจจุบันโดนทุบสถิติไปแล้วหรือยัง? ^^ ขับตรงไปอีกก็เจอ วงเวียนหอนาฬิกาครับ ถือเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองเบตง วันนั้นมีรถที่ขับมาเที่ยวจากประเทศมาเลเซียอยู่หลายคันครับ สงสัยมาเล่นสงกรานต์กัน พวกผมพักที่บ้านของเพื่อนสนิทของแม่ครับ ก่อนที่จะออกไปเที่ยว พวกผมจึงขอเอาของไปเก็บ และรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านของเพื่อนสนิทแม่ก่อนครับ ^^


ศาลาประชาคมเมืองเบตง และตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

รถเบนซ์จากประเทศมาเลเซีย ขับมาเที่ยวเมืองเบตงครับ

โรงแรมแกรนด์แมนดาริน อำเภอเบตง ความสูง 25 ชั้น เป็นตึกที่สูงที่สุดใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ 

โรงเรียนจงฝามูลนิธิ โรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกใน อำเภอเบตงครับ ทำเหมือนกำแพงเมืองจีนเชียว

      ขับรถออกมานอกเมืองมาได้ไม่ถึง 1 กิโลเมตรก็จะถึงบ้านเพื่อนสนิทของแม่ ซึ่งจะเป็นที่พักตลอดทริปเบตงของผมครับ เมื่อมาถึงที่พัก ผมจึงรีบนำสัมภาระมาเก็บไว้ที่ห้องพักครับ เพื่อนสนิทของแม่คุ้นเคยกับผม และครอบครัวของคุณแม่ดี ทำให้เมื่อเจอกันก็ทำให้คุณยาย และคุณน้าคุยได้โดยไม่รู้สึกอึดอัดครับ พักทานน้ำเย็นดับร้อนสักครู่ และผมขอตัวไปทานส้มตำปลาร้ารสแซบที่ผมเป็นคนไปสอยมะละกอลงมาเองกับมือสักหน่อย! ทานคู่กับข้าวเหนียวและแกงส้มปักษ์ใต้ร้อนๆ ที่เพื่อนสนิทของคุณแม่เป็นคนทำ รวมทั้งผักแกล้มที่เก็บมาจากสวนของเพื่อนสนิทของคุณแม่มันช่างหวานกรอบเสียจริงจึงมั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษอย่างแน่นอน! ก่อนที่ผมจะพาไปเที่ยวที่ไหนขอจบเอนทรี่นี้ไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ! ขอบอกว่าเอนทรี่หน้า ห้ามพลาดครับ! ไปทานส้มตำก่อนนะครับสวัสดีครับ♥

ปล.อย่าเพิ่งทิ้งผมไปไหน ผมจะรีบมาต่อ part 2 ให้ในวันพรุ่งนี้ ขอขอบคุณที่ติดตามมาโดยตลอด อย่าลืมติ-ชมกันด้วยนะครับ ฝากผลงานของนักเขียนมือใหม่คนนี้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ
-SOLSAMA




   











Related Articles

0 comments:

Post a Comment